วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562

ส่งบทความการศึกษา


1. จดหมายถึงครู อาชีพครูกำลังถูกท้าทายในยุค Disruption
ครูจึงต้องเปลี่ยน เพราะหากไม่เปลี่ยน ไม่ใช่แค่แพ้แต่ถึงกับสูญพันธุ์ ********************************
โดย...ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะและอธิการบดี สจล.
วันนี้เมื่อกระแสกดดันการศึกษาไทยรุนแรงมากขึ้นจากโซเชียลมีเดีย และจากที่คนไทยเริ่มรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงแบบหักศอกในโลกยุค Disruption หรือยุคทำลายล้างเพื่อเกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่า จึงกังวลว่าลูกหลานไทยจะสู้ใครไม่ได้ เพราะการศึกษาไทยติดหล่ม ถึงแม้รัฐจะทุ่มเทเต็มกำลังก็ตามที อนาคตไทยก็ยังน่าเป็นห่วง เมื่อการศึกษาไทยมีปัญหา “ครู” มักกลายเป็นจำเลยของสังคม หรือ “ผิดเป็นครู” บ้างก็ว่าครูรุ่นใหม่ขาดจิตวิญญาณ ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัว แต่ปัญหาครูก็เป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น ในหลายปัจจัยของวงการศึกษาไทย การที่ครูมักต้องเป็นแพะรับบาปร่ำไป ผมจึงรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรม เพราะตัวผมก็เป็นครู พ่อแม่ของผมก็เป็นครู เรียนมาตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาเอก มีวันนี้ได้ก็เพราะมีครู จึงขอเถียงเลยว่าครูต้องดี แต่...วันนั้นกับวันนี้อาจต่างกันและโลกในวันหน้าก็ยิ่งต่างกันสิ้นเชิง ครูในอนาคตจะเป็นอาชีพที่ถูกท้าทายมากที่สุด ในยุคที่เด็ก I don’t care คือ ไม่สนว่าเรียนแล้วได้อะไร ไม่เชื่อว่าหลักสูตรตอบโจทย์ชีวิต ผนวกกับยุคนายจ้าง I don’t care เหมือนกัน คือ ไม่สนว่าคุณเรียนจบแล้วได้ปริญญาอะไรมา หรือจะจบมหาวิทยาลัยดังแค่ไหนก็ตาม หากทำงานไม่ได้ ไม่ดี ฉันก็ไม่สน ไม่จ้าง ครูจึงต้อง “เปลี่ยน” เพราะหากไม่เปลี่ยน ไม่ใช่แค่ “แพ้” แต่ถึงกับ “สูญพันธุ์” ดังนั้น ครูยุค Disruption ควรต้อง 1.สอนเด็กให้ทำงานได้ ทำงานเป็นมีความเชี่ยวชาญจริง ไม่ใช่สอนเพื่อไปสอบ เพื่อไปได้ปริญญา เพราะใบปริญญากำลังจะหมดความนิยม 2.สอนเพื่อตอบโจทย์โลกแห่งความเป็นจริง (Real World) ใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ใช่สอนตามหนังสือตามแบบฝึกหัด 3.ยอมปรับตัวแรงและเร็ว ไม่มีทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะในโลกดิจิทัลหนึ่งนาทีก็ช้าไปแล้ว 4.มีความ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” เด็กผู้เรียนอย่างแท้จริง สื่อสารได้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ลืมของเดิมไปเลย 5.ไม่หลบหลีกเทคโนโลยีชั้นสูงในการเรียนการสอน ควรรู้ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ การใช้เครื่องมือใหม่ๆ อีกทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามาเต็มรูปแบบ 6.พบเจอกับการประเมินรายบุคคล ทั้งจากเด็กและการจัดอันดับการสอนแบบทันที (Real Time) ด้วยบิ๊กดาต้าและบล็อกเชนเป็นยุคที่ทำดีก็ได้ดีเร็ว ทำเสียก็ไปเร็วเช่นกัน 7.คิดหลักสูตรเองและเครื่องมือเรียนรู้เองได้ สร้างสรรค์ความแตกต่างแบบไม่ซ้ำใคร 9.มีจิตวิญญาณความเป็น “ครู” ยังไงก็ยังสำคัญที่สุด จึงขอให้กำลังใจให้ผู้ที่จะเป็น “ครูมืออาชีพ” ขณะที่การเป็นครูยิ่งยากมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเป็นหน้าที่ของรัฐและสังคมไทย ที่จะต้องดูแลครูให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเดือน สวัสดิการ แต่ต้องเป็นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาอาชีพครู ถึงจะเป็นธรรม ไม่ใช่คาดหวังสูง แต่ไม่เหลียวแล คงไม่แฟร์สำหรับครู และขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยเช่นกัน เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องยากมาก ผมจึงขอส่งจดหมายถึงครูไทยทุกคนว่า คนไทยเรายังรักครูครับ สู้สู้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.kroobannok.com/85542


2.ทำอย่างไรให้ครูเป็นที่รักของนักเรียน

นายนรรัชต์  ฝันเชียร

เส้นทางของการเป็นครูนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนการศึกษาอย่างเหมาะสมแล้ว ทักษะและความสามารถที่ส่งเสริมการทำงานในอาชีพครูก็นับเป็นเรื่องสำคัญที่คนเป็นครูจะต้องมี เช่น การกล้าแสดงออก การพูดในที่สาธารณะ ทักษะในการถ่ายทอด การอธิบาย และรวมไปถึง การปฏิสัมพันธ์และวางตัวอย่างเหมาะสมกับนักเรียนด้วย

ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการทำงานค่อนข้างมาก เพราะด้วยอาชีพครูนั้น จำเป็นต้องทำงานกับเด็กและเยาวชนในวัยของการเข้ารับการศึกษา จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่ถูกเพ่งเล็งจากบุคคลทั่วไป ทั้งจากตัวนักเรียนเอง ผู้ปกครอง หรือรวมถึงบุคคลภายนอกที่อาจมองดูด้วยความรู้สึกผิวเผิน ซึ่งการวางตัวในฐานะของครูต่อลูกศิษย์โดยสนิทชิดเชื้อหรือห่างเหินกับนักเรียนเกินไป ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อตัวครูไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้นเราเองในฐานะที่เป็นครูก็ควรที่จะต้องวางตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี มีจรรยาบรรณและในขณะเดียวกันก็ต้องนึกถึงจิตใจของนักเรียนในความดูแลเป็นสำคัญด้วย เพราะผลจากการปฏิสัมพันธ์ที่ดีของครูที่มีต่อนักเรียนนั้น จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความไว้วางใจและส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นผลดีต้องการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องต่างๆได้เป็นอย่างดี
สำหรับลักษณะของครูที่นักเรียนไม่ชอบ ถ้าได้มีโอกาสไปถามผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ ผมเชื่อว่าคงมีคำตอบมากมายร้อยแปดพันเก้าอย่าง ซึ่งแตกต่างไปตามคุณวุฒิและวัยวุฒิของผู้เรียน ในช่วงวัยหนึ่ง เราอาจชอบครูที่มีเรื่องเล่าที่สนุกสนานมากมาย แต่พอมาอีกช่วงวัยหนึ่งเราก็อยากได้ครูที่สามารถสอนได้เข้าใจง่าย เป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวตนของผู้เรียน ณ ขณะนั้น ว่าถูกจริตกับครูที่มีบุคลิกลักษณะเช่นไร หรือแม้กระทั่งในแต่ละวิชาเอง เราก็มักจะอยากได้ครูที่สอนในสาขาวิชานั้นๆ ไม่เหมือนกัน  แต่ถ้าให้สรุปรวม จากที่ได้อ่านบทความหรือผลสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจึงได้นำข้อมูลที่พูดถึงลักษณะของครูที่นักเรียนไม่ชอบ มาร้อยเรียงเป็นบทกลอน ออกมาได้ดังนี้
                      ทำหน้าบึ้งโกรธขึงอยู่เป็นนิจ                    จะถูกผิดก็ไม่คิดไม่ฟังเหตุผล
ถือตัวสูงเป็นใหญ่กว่าทุกคน                    เดี๋ยวก็บ่นเดี๋ยวก็ด่าระอาใจ
เจอนักเรียนเหมือนเจอหมาอารมณ์ขึ้น       ชีกเป็นที่หนึ่งรับไม่ได้
ไม่เข้าสอนทำงานนอกอู้สบาย                  มาก็สายกินเวลาไม่ใส่ใจ
สอนไม่ดีพางงไม่รู้เรื่อง                          ไม่ปราดเปรื่ององค์ความรู้เป็นเรื่องใหญ่
เลือกที่รักมักที่ชังนั้นปะไร                       เป็นพ่อค้าแม่ขายในคราบครู
ไม่ปรับตัวหลงยุคดึกดำบรรพ์                   ถือไม้เรียวฟัดกันน่าอดสู
ความรู้ใหม่ไม่สนใจหรือใคร่รู้                    เหมือนว่าตูเก่งแล้วไม่สนใจ
สั่งการบ้านมากมายเกินอัตรา                   ใช้เวลาทั้งวันทำทันไหม
ประจานเด็กโจ่งแจ้งแถลงไป                    สร้างให้เด็กอับอายไม่น่าดู
ถึงครูคือปุถุชนธรรมดา                          แต่ก็แบกศรัทธาที่เลิศหรู
ครูดังกล่าวไร้ค่าคำว่าครู                         ศิษย์จะขู่บอกว่าน่าไม่อายถ
            จากบทกลอนที่ข้าพเจ้าได้ประพันธ์ จะเห็นถึงคุณลักษณะของครูบางประเภทที่ปฏิบัติตนกับลูกศิษย์ไม่เหมาะสม ซึ่งในสมัยก่อนนั้น นักเรียนอาจไม่ค่อยจะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากครูผู้สอนมากเท่ากับยุคปัจจุบันที่สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทในการควบคุมสังคมมากขึ้น ดังนั้นครูที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสมกับนักเรียน นอกจากจะไม่เกิดผลดีต่อการเรียนการสอนในชั้นเรียน ก็อาจจะถูกฟ้องร้องในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เหมาะสมด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่ออาชีพครูเป็นอย่างมาก ครูทุกคนจึงควรระมัดระวังและสำรวจพฤติกรรมของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ตัวเองดำรงอยู่ไว้ซึ่งแนวทางของความเป็นครูที่เป็นที่รักของนักเรียนอย่างเหมาะสม
แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะเป็นครูที่เป็นที่รักของนักเรียน ? สำหรับการจะตอบคำถามนี้ ผมขอหยิบยกหลักธรรมในพุทธศาสนามาเป็นหลักในการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เป็นครูที่เป็นที่รักของนักเรียน ซึ่งหลักธรรมที่ผมยกมาใช้ในการพัฒนาตัวเองนั้น คือ พรหมวิหาร 4
            พรหมวิหาร 4 คือหลักธรรมประจำใจที่ใช้ในการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม อันประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ซึ่งถ้าหยิบยกมาอธิบายในมุมมองของการพัฒนาตัวเองของครู ก็สามารถอธิบายได้ดังนี้
1. เมตตา คือ ความรักใคร่ปรารถนาดี ซึ่งในความเป็นครูนั้น จะต้องมีไมตรีจิตอันดีเช่นนี้ต่อนักเรียนเป็นที่ตั้ง มีความมุ่งหมายและปรารถนาให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพและเติบโตเป็นคนดีของสังคม ไม่ใช่จงเกลียดจงชังนักเรียน ถึงแม้ว่านักเรียนบางคนอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ตาม
2. กรุณา คือ ความสงสารและปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ปกตินักเรียนแต่ละคนต่างๆก็มีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน เด็กบางคนเพียงแค่อธิบายเล็กน้อยก็สามารถปฏิบัติได้อย่างดี แต่ก็มีหลายคนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากครูผู้สอน โดยการที่คุณครูมีหลักธรรมตั้งมั่นอยู่บนความกรุณานี้ จะช่วยให้คุณครูมองปัญหาหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนอย่างแท้จริง และมองเรื่องนั้นเป็นเรื่องควรแก้ปัญหา มากกว่าจะมองเป็นภาระ
3. มุทิตา คือ ความยินดี ต่อความสุขของผู้อื่น ซึ่งในที่นี้คือเรื่องของนักเรียน การที่ครูรู้จักชมเชยด้วยความจริงใจกับสิ่งที่นักเรียนสามารถทำได้ นอกจากจะทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปในแนวทางที่ดีแล้ว การพูดคุยชมเชยยังนับว่าเป็นแรงเสริมที่ช่วยให้นักเรียนอยากแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมนั้นซ้ำๆ อีกด้วย
4. อุเบกขา คือการวางใจเป็นกลาง ถึงแม้ว่าเราจะสนิทกับนักเรียนมากขึ้นเพียงไรก็ตาม แต่ความเป็นครูก็ควรตั้งมั่นในเรื่องของอุเบกขาด้วย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการวัดและประเมินผล เพราะถือเป็นวัดศักยภาพของผู้เรียนตามสภาพจริง ซึ่งถ้าคุณครูมีความเอนเอียงต่อการประเมินแล้ว นอกจากจะส่งผลเสียต่อตัวนักเรียนเอง ยังส่งผลเสียต่อการทำงานของครูอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่อง
            จากหลักธรรมนี้ จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร 4 ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก เพราะเป็นหลักธรรมที่สามารถทำได้ทั่วไป ไม่ว่าใครก็สามารถนำหลักธรรมนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ และเมื่อเรานำหลักธรรมนี้มาเป็นหัวใจในการประกอบอาชีพครู นอกจากเราจะเป็นที่รักของบรรดาลูกศิษย์แล้ว ก็จะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าในบทบาทหน้าที่การทำงานอีกด้วย

            หลายคนอาจมองว่า การเป็นครูที่เป็นที่รักของนักเรียน ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรต่อการส่งเสริมการศึกษาเท่าไหร่นัก เพราะมองว่า อย่างไรเสียนักเรียนก็มีหน้าที่มาเรียนหนังสืออยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่จะดีกว่าไหม ถ้านักเรียนมาเรียนด้วยจิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน มากกว่าที่จะมาเรียนด้วยความรู้สึกหดหู่ การปฏิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ชัดเจน แต่ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของนักเรียนไม่มากก็น้อย เมื่อสภาพจิตใจของนักเรียนพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมไปกับครูเฉกเช่นนี้แล้ว มันก็ง่ายที่จะจัดการศึกษาที่น่าสนใจให้เขาไม่ใช่หรือ ?


3.การศึกษาไทยในปัจจุบัน

การศึกษาของเด็กไทยที่ผ่านมา มีความพยายามในการยกระดับมาตรฐานทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยในแต่ละปี ผลที่ออกมามักอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
แม้ประเทศไทยจะมีการทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเรียนฟรี 15 ปี รวมถึงโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตรครู 5 ปี) การประเมินวิทยฐานะ ซึ่งทำให้ครูที่มีผลงานดีได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่เหตุใดปัญหาการศึกษาของเด็กไทยยังมีการประเมิณว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งปัญหาด้านการเรียนของเด็กไทยในปัจจุบันอาจวิเคราะห์ได้ว่ามาจากหลายประการ
ปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เด็กมีผลการเรียนอ่อนลง มาจากความสนใจของตัวเด็กเองที่พบว่าเด็กให้ความสนใจเรื่องของเกม และสื่อเพื่อความบันเทิงมากขึ้น ทำให้ความสนใจในการศึกษาหาความรู้ลดน้อยลง ทั้งนี้ เนื่องมาจากสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ทุ่มเวลาหาเงิน ทำงาน และใช้เงิน ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงดูเด็ก เช่น ซื้อทีวี ซื้อเครื่องเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ให้ลูกเล่นอยู่บ้าน เพราะคิดว่าดีกว่า ปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกไปเล่นนอกบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการ
ปัญหาการสอบแอดมิดชั่น เนื่องจากระบบการสอบแอดมิดชั่น เน้นคะแนนสอบเพียงบางวิชาและไม่เน้นความรู้ในเชิงลึกเหมือนการสอบในสมัยเก่า

4.ครูในระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร

ทุกประเทศไม่เน้นแต่การเพิ่มจำนวนครู แต่ต้องดูคุณสมบัติ ประสบการณ์ และประสิทธิผลของครู ความพยายามในการส่งเสริมนักเรียนด้อยโอกาสจะสำเร็จได้ต้องเพิ่มครูดี-ครูเก่งให้มากกว่าการเพิ่มจำนวนครู โรงเรียนด้อยโอกาสควรได้รับการจัดสรรครูคุณภาพสูง และรัฐต้องมีมาตรการชดเชยครูคุณภาพสูงที่สอนในโรงเรียนด้อยโอกาส ครูดี-ครูเก่ง คือ ครูที่สามารถสอนนักเรียนให้มีผลการเรียนพลิกความคาดหมายได้ ไม่ใช่ครูที่สอนในโรงเรียนที่คัดเลือกเฉพาะนักเรียนที่เก่งอยู่แล้วเข้ามาในโรงเรียน เพราะนักเรียนเหล่านั้นเก่งได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับครูมากนัก

5.ปฏิรูปการศึกษา 6 ด้าน รูปธรรมความสำเร็จการพัฒนาศักยภาพกำลังคนของประเทศ
กระทรวงศึกษาธิการ เผยแพร่บทความพิเศษ “ปฏิรูปการศึกษา 6 ด้าน รูปธรรมความสำเร็จการพัฒนาศักยภาพกำลังคนของประเทศ” ซึ่งเป็นสรุปผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีด้านการศึกษาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2559-2561)
การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่มุ่งยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ของกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาของชาติและปักหมุดไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาคุณภาพสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21
ห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนางานภายใต้กรอบการปฏิรูปใน ๖ ด้าน ประกอบด้วย การปฏิรูปครู การเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษา การปฏิรูปการบริหารจัดการ การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การปฏิรูปการเรียนรู้ และการปรับระบบ ICT เพื่อการศึกษา โดยมีผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1. ด้านการปฏิรูปครู ได้ดำเนินการโครงการสำคัญในหลายเรื่อง อาทิ การพัฒนาศักยภาพครู โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ผ่านโครงการ Boot Camp การตั้งสถาบันคุรุพัฒนา เพื่อการพัฒนาครูแบบครบวงจรเพื่อลดการจัดอบรมสัมมนาซ้ำซ้อน แก้ปัญหาครูออกนอกห้องเรียน การดึงคนเก่งคนดีมาเรียนครูผ่านโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จะทำให้ได้ครูเก่งที่ทำงานในภูมิลำเนา จำนวนถึง 26,976 คน ในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ยังสร้างขวัญและกำลังใจให้ครูผ่านโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย ทั้งการปรับระบบการพัฒนาวิทยฐานะที่มุ่งเน้นการประเมินจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติงานของครูแทนการตรวจเอกสาร การปรับปรุงบ้านพักครู การแก้ปัญหาหนี้สินครูด้วยการลดดอกเบี้ย ชพค. เหล่านี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพครู เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนต่อไป
2. การเพิ่ม กระจายโอกาส และพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้ดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนี้ การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ จัดการศึกษาของศูนย์ศาสนาอิสลามประจำมัสยิด สถาบันศึกษาปอเนาะ จัดตั้งโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้และอาชีวศึกษาประชารัฐ สำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ดำเนินการเปิดไปแล้ว จำนวน 68 แห่ง การกระจายโอกาสให้กับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็ก ผ่านโครงการติวฟรีดอทคอม DLTV DLIT โรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนประชารัฐ รวมทั้งการจัดการศึกษาให้กับประชาชนทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ประชาชนวัยแรงงาน การจัดการศึกษาอาชีพสำหรับประชาชนกว่า 500,000 คนต่อปี การปรับระบบสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ การศึกษาสำหรับผู้พิการ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนทุกคน
3. การปฏิรูปการบริหารจัดการ  ได้มีการปรับระบบการบริหารจัดการในหลายเรื่อง ดังนี้ พัฒนาการจัดการศึกษาในรูปแบบ Partnership School มีโรงเรียนเข้าร่วม จำนวน 42 แห่ง และบริษัทเข้าร่วม จำนวน 11 แห่ง กำหนดวิธีการจัดการสอบผู้อำนวยการเขตพื้นที่ในรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นให้ได้คนเก่ง และป้องกันการทุจริตจากการคัดเลือก การปรับวิธีการประเมินและการประกันคุณภาพสถานศึกษา ที่สามารถประหยัดงบประมาณกว่าพันล้านบาท แต่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาและไม่เป็นภาระให้ครู การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ การจัดตั้งกระทรวงใหม่ที่ดูแลการศึกษาระดับอุดมศึกษา การตรากฎหมายเกี่ยวกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การสื่อสารสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในรูปแบบที่ทันสมัยผ่านโครงการการสร้างการรับรู้การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนการเร่งปราบปรามการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ ปราบปรามทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ปราบปรามทุจริต MOE Net ปราบปรามทุจริตการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอควาเรียม สงขลา เพื่อให้เกิดการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพ
4. การผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เป็นการผลิตและพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ ดำเนินโครงการสำคัญ ดังนี้ จัดหลักสูตรอาชีวะพันธุ์ใหม่ ดำเนินการสร้างและผลิตอาชีวะในอุตสาหกรรม จัดหลักสูตรอาชีวะพันธุ์ใหม่ที่เน้นผลิตช่างในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 5 สาขา มีวิทยาลัยอาชีวศึกษา เข้าร่วมทั้งหมด 27 แห่ง มีเป้าหมายผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่ให้ได้ 8,500 คนใน 5 ปี มาตรการลดการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษา ที่ส่งผลให้การทะเลาะวิวาทลดลงอย่างต่อเนื่อง สัตหีบโมเดลที่เน้นการเรียนจริง รู้จริง ได้ลงมือทำจริง ผลิตกำลังคนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ New S-Curve สร้างระบบการเตรียมนวัตกรในพื้นที่ EEC การจัดการศึกษาด้านอาชีพให้กับประชาชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีผู้ประกอบการพัฒนาอาชีพ พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ 6,600 คน/ปี โครงการห้องเรียนอาชีพที่เรียนสามัญคู่กับสายอาชีพ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ จบแล้วมีงานทำ มีโรงเรียนนำร่อง 6 แห่ง การสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศใน 8 สาขาวิชา มีสถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนในปี 2561 จำนวน 20 แห่ง 235 หลักสูตร โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมและเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษา โดยจะดำเนินการได้ครบทุกภาค การศึกษาระบบ KOSEN เพื่อเตรียมกำลังคนของประเทศ ซึ่งจะเป็นการเตรียมกำลังคนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
5. การปฏิรูปการเรียนรู้  ได้ดำเนินการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถเฉพาะด้าน ผ่านโครงการห้องเรียนกีฬาห้องเรียนดนตรี โครงการสานฝันการกีฬาชายแดนใต้ เพื่อให้เป็นไปตามศักยภาพ การเสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติ ศาสนาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โดยปรับหลักสูตรให้เพิ่มเติมทางประวัติศาสตร์ การสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ผ่านกิจกรรมลูกเสือ การบูรณาการการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ผ่าน STEM ศึกษา การพัฒนาเด็กให้อ่านคล่องเขียนคล่อง รวมถึงให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ทุกคน การจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ผู้เรียนผ่านโครงการ English for All EchoV รวมถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง
6. การปฏิรูป ICT เพื่อการศึกษา โดยการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต และระบบฐานข้อมูล ได้แก่ การดำเนินโครงการจัดหา High Speed Internet ในโรงเรียน ที่ให้โรงเรียนเลือกผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเอง ทำให้โรงเรียนมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ และสามารถลดค่าใช้จ่ายจากเดิมปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท และโครงการ Big Data กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางของทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการให้สามารถรองรับการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับฐานข้อมูลกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แบบ On-Line Real Time ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการฐานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลสัมฤทธิ์การปฏิรูปการศึกษาจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงศึกษาธิการมุ่งมั่นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนของประเทศ มีคุณภาพและมีศักยภาพที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศไทย ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มภาคภูมิ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น